top of page

วันลาตามกฎหมายที่ได้รับค่าจ้าง

แต่ละองค์กรอาจมีสิทธิการลาป่วย ลากิจ ลาพักร้อน หรือลาคลอดต่างกัน ทำให้เราอาจสงสัยว่าสิทธิ์วันลาตามกฎหมายเป็นอย่างไร เรามาเช็คกันสักนิดว่าการลาแต่ละประเภทที่เราใช้บ่อยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดการลาขั้นต่ำเอาไว้กี่วัน


ลาป่วยได้กี่วัน?

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 32 ประกอบมาตรา 57 กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง โดยจะได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปี ซึ่งการลาป่วยตั้งแต่วันที่ 31 เป็นต้นไปลูกจ้างจะไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ดังนั้นหากเรายังใช้สิทธิ์ลาป่วยไม่ถึง 30 วันทำงานต่อปี และเป็นการลาที่ถูกต้องตามระเบียบของบริษัท บริษัทจะไม่มีสิทธิ์หักค่าจ้างในวันที่ลาป่วยนั้น


ลากิจได้กี่วัน?

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 34 ประกอบมาตรา 57/1 กำหนดให้ลูกจ้างสามารถลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานต่อปี โดยมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 3 วันทำงานต่อปี ดังนั้นในทางปฏิบัติองค์กรสามารถกำหนดให้สิทธิ์พนักงานลากิจกี่วันก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานต่อปี ทั้งนี้ หากพนักงานใช้สิทธิ์ลากิจครบไปแล้ว และต้องการลากิจเพิ่ม องค์กรอาจแนะนำให้พนักงานใช้วันลาพักร้อนแทนก็ได้



ลาพักร้อนได้กี่วัน?

วันลาพักร้อนเป็นภาษาติดปากที่พวกเรามักจะเรียกกันเอง แต่ในทางกฎหมายจะเรียกว่า “วันหยุดพักผ่อนประจำปี” โดยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 30 ประกอบมาตรา 56 กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี มีสิทธิ์หยุดพักผ่อนประจำปีได้ ปีละไม่น้อยกว่า 6 วันทำงานโดยได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติ ซึ่งบริษัทจะเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวหรือตามที่บริษัทจะตกลงกับพนักงานก็ได้ ในทางปฏิบัติหลายบริษัทมักให้พนักงานเป็นคนกำหนดวันที่จะหยุดเองแล้วขออนุมัติจากบริษัท นอกจากนี้ บริษัทอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้พนักงานมากกว่า 6 วันทำงานก็ได้ หรือในกรณีที่เราใช้สิทธิ์ไม่ครบตามจำนวนวันที่ได้รับสิทธิ์ บริษัทก็อาจอนุญาติให้สามารถเก็บสะสมและนำไปรวมเข้ากับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีต่อไปได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริษัทและพนักงานจะตกลงกัน



ลาคลอดได้กี่วัน?

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 41 ประกอบมาตรา 59 กำหนดให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์สามารถลาคลอดบุตรได้ครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วันโดยให้นับรวมวันหยุดที่มีในระหว่างวันลาด้วย สิทธิการลาคลอดนี้พนักงานสามารถที่จะลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตร การคลอดบุตรและพักฟื้นหลังคลอดบุตร โดยพนักงานจะได้รับค่าจ้างจากองค์กรไม่เกิน 45 วัน และอาจเบิกเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากประกันสังคมได้ในอัตราร้อยละ 50 ของเงินเดือนฐานเฉลี่ย (ถ้าเงินเดือนสูงกว่า 15,000 บาทต่อ จะคิดจาก 15,000 บาทเท่านั้น) เป็นระยะเวลา 90 วัน นอกจากเงินก้อนนี้แล้วยังมีสิทธิ์จากประกันสังคมอื่นๆ ที่สามารถเบิกได้อีก เช่น ค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร เป็นต้น โดยสามารถเช็คสิทธิ์เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมหรือสายด่วน 1506


สรุป

ลาป่วย : ลาได้ตามที่ป่วยจริงแต่จะได้รับค่าจ้างในวันที่ลาไม่เกิน 30 วันต่อปี

ลากิจ : ลาได้ไม่น้อยกว่า 3 วันต่อปีแต่จะได้รับค่าจ้างในวันที่ลาไม่เกิน 3 วัน

ลาพักร้อน : ลาได้ไม่น้อยกว่า 6 วันต่อปี โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ

ลาคลอด : ลาได้ไม่เกิน 98 วันต่อครั้งแต่จะได้รับค่าจ้างจากบริษัทไม่เกิน 45 วัน

 

ที่มา : https://bit.ly/3wOz5OP



อบรม HR : https://www.hrodthai.com/

ดู 1,430 ครั้ง

Comments


Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook
  • ไอคอน YouTube สังคม
bottom of page