1 พฤษภาคม วันแรงงานแห่งชาติ ลูกจ้างต้อง ‘ได้หยุด’และ‘ได้เงิน’ หากนายจ้างฝ่าฝืนถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
อัปเดตเมื่อ 24 พ.ค. 2566
1 พฤษภาคม วันแรงงานแห่งชาติ ลูกจ้างต้อง ‘ได้หยุด’ และ ‘ได้เงิน’
มาตรา 29 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดว่า นายจ้างต้องให้ลูกจ้างหยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติ และต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างเท่ากับวันทำงาน
ถ้าไม่สามารถหยุดงานได้ เนื่องจากมีลักษณะงานที่จำเป็นหรือต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดอาจจะเสียหายแก่งาน เช่น ทำงานโรงแรม ร้านขายอาหาร สถานพยาบาล เราก็ต้องได้หยุดชดเชยวันอื่นแทน หรือได้รับเงินค่าทำงานในวันหยุด โดยต้องได้รับเงินเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 1 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานปกติ เพราะวันนี้ เราต้องได้หยุดและได้ค่าจ้างอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าต้องทำงานจึงต้องได้เงินค่าจ้างเท่ากับทำงาน 2 วันหรือมากกว่านั้น
หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประกาศจาก กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เตือนนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติ และต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างเท่ากับวันทำงาน หากฝ่าฝืนจะดำเนินคดีตามกฎหมาย กรณีให้ลูกจ้างทำงานต้องได้เงินเพิ่มไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของวันปกติ
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันแรงงานแห่งชาติ เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงาน ประกอบกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพุทธศักราช 2541 มาตรา 29 ได้กำหนดให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 13 วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติด้วย
จึงขอชี้แจงการปฏิบัติเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้หยุดงาน ในวันแรงงานแห่งชาติ และจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน ในกรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดงานได้ เนื่องจากมีลักษณะงานที่จำเป็นหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดอาจจะเสียหายแก่งาน เช่น งานในกิจการโรงแรม ร้านขายอาหาร สถานพยาบาล งานในที่ทุรกันดาร งานขนส่ง เป็นต้น ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่าจะให้หยุดชดเชยวันอื่นแทน หรือจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้กับลูกจ้าง กรณีที่ตกลงกันว่าจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดนั้น นายจ้างจะต้องจ่ายค่าแรงให้กับลูกจ้างเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของค่าจ้างในวันทำงานปกติ สำหรับกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันแรงงานแห่งชาติ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำ
อธิบดีกรมสวัสดิการฯ กล่าวต่อว่า นายจ้างที่ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายมีโทษจำคุก
ไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากลูกจ้าง นายจ้างมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่โทรศัพท์สายด่วน 1546
Comments